รวมอาชีพบริการด้านการแพทย์ที่น่าสนใจ ในวันธุรกิจสุขภาพเติบโต

Posted: 23/04/2019

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประเมินแนวโน้มสินค้าและบริการที่จะเป็นแนวโน้มของโลก ซึ่งในปี 2562 ตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่มจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มผู้สูงอายุจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมีการขยายตัวตามไปด้วย สำหรับหนึ่งในบริการที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ก็คือ บริการด้านสุขภาพ และ สปา

การเติบโตไม่ได้มาจากภายในประเทศเท่านั้น แต่เป็นเพราะกระแสของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแรง โดยประเทศไทยถือเป็น 1 ใน Medical ที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมแต่ราคาไม่สูงมากนัก นำมาสู่การดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก

โอกาสของอาชีพสายสุขภาพมาแรงแต่ต้องปรับตัวเข้ากับยุคสมัย

เมื่อธุรกิจสายสุขภาพขยายตัวต่อเนื่อง ความต้องการบุคลากรในสายงานด้านนี้จึงเติบโตเช่นกัน แน่นอนว่ามีทั้งอาชีพเก่าและอาชีพใหม่ ซึ่งต่างมุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มเป้าหมายรวมทั้ง การปรับตัวจากเทคโนโลยีต่างๆที่ก้าวเข้ามาในสายงานสุขภาพมากขึ้น

ส่งผลให้การมองหาตำแหน่งงานที่ดีในสายบริการด้านการแพทย์ – สุขภาพ อาจไม่จำเป็นต้องยึดติดกับบริษัทใหญ่ หรือ งานในโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่คุณมีโอกาสได้งานเหล่านี้จากนี้บริษัท SME หรือ แม้กระทั่งกลุ่ม Startup ที่ดำเนินงานด้านบริการสุขภาพ ได้เช่นกัน

อาชีพบริการด้านการแพทย์ – สุขภาพที่น่าสนใจ

หลายอาชีพจะเป็นตำแหน่งงานดั้งเดิม แต่เราจะให้เหตุผลว่าทำไมอาชีพเหล่านี้จึงน่าสนใจ เช่นเดียวกับ แนวทางของอาชีพใหม่ๆที่คุณอาจไม่คุ้นเคยมากนัก

1. พยาบาลดูแลผู้สูงอายุ: เป็นอาชีพที่คุ้นหูกันอยู่แล้ว เพียงแต่สังคมสูงวัยจะช่วยส่งผลให้ บุคลากรด้านนี้ยังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะการที่โรงพยาบาลต่างๆ หรือ แม้แต่ธุรกิจประกัน ที่หันมาสร้างหน่วยบริการดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ ถึงที่บ้าน ซึ่งนอกจากหน้าที่การดูแล ตรวจ และรักษา ยังรวมถึงการทำกายภาพบำบัด และ จิตบำบัด อีกด้วย

2. นักกำหนดอาหารและนักโภชนาการ: คนเราสมัยนี้หันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น และแต่ละคนต่างก็มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และพื้นฐานสุขภาพที่ต่างกันออกไป ดังนั้นการได้คำแนะนำ คำปรึกษาหรือการดูแลที่ตอบโจทย์แต่ละบุคคลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งยุคที่เทคโนโลยีช่วยให้การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น ก็ทำให้โอกาสของสายงานนี้เปิดกว้างและเป็นบุคลากรที่ต้องการเพิ่มขึ้น

3. พนักงานขายเครื่องมือแพทย์: ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าและส่งออกเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ในอาเซียน เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก ประกอบกับธุรกิจโรงพยาบาลรัฐและเอกชนต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ ทำให้มีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับบริการของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นอาชีพนี้จึงยังเป็นที่น่าจับตามองสำหรับงานสายบริการสุขภาพ

4. พยาบาลวิชาชีพ: เดิมทีพยาบาลก็เป็นอาชีพที่ขาดแคลนอยู่แล้ว และในการก้าวขึ้นไปเป็น ศูนย์กลางบริการด้านการแพทย์ของโลกจึงยิ่งต้องการบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ซึ่งพยาบาลยุคใหม่จะต้องเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี รวมทั้งการมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น

5. พนักงานร้านสปา: เชื่อหรือไม่ว่า สปา คือหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งสำหรับยุคของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้นพนักงานร้านสปาตั้งแต่ผู้ให้การต้อนรับ หรือ ผู้ให้บริการสปา ต่างเป็นที่ต้องการสำหรับยุคธุรกิจสุขภาพ ที่สำคัญสัมผัสแห่งมนุษย์ยังเป็นสิ่งที่ระบบอัจฉริยะเข้ามาทดแทนได้ยาก เพียงแต่คุณอาจต้องมีทักษะเพิ่มเติมเช่นเรื่อง ภาษาที่สองและสาม เป็นต้น

6. นักวิทยาศาสตร์การกีฬา/นักเวชศาสตร์การกีฬา: ไม่ได้แปลว่าเกี่ยวข้องกับนักกีฬาเพื่อการแข่งขันเท่านั้น แต่สามารถดูแลผู้ที่เล่นกีฬาเพื่อการออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้อีกด้วย และมีความเป็นไปได้ที่นักกีฬาต่างประเทศอาจเลือกเข้ามาทำการฟื้นฟูหรือรักษาที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก อีกส่วนหนึ่งคือลีกกีฬาอาชีพในบ้านเราก็เริ่มพัฒนาและมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก

7. สัตวแพทย์: นอกจากจะใส่ใจสุขภาพตนเอง คนยังใส่ใจสุขภาพของสัตว์เลี้ยงมากขึ้นเช่นกัน เพราะการจับจ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงนั้นเติบโตขึ้นทุกปี และในอนาคตผู้คนจะต้องการบริการด้านการแพทย์สำหรับสัตว์รูปแบบใหม่อย่างแน่นอน ทั้งด้วยเรื่องของนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและโรคภัยใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้น

8. ผู้เชี่ยวชาญหุ่นยนต์ด้านการแพทย์: ผู้ที่ออกแบบ พัฒนา ปรับปรุงและซ่อมแซมหุ่นยนต์ ซึ่งในอนาคตจะต้องเข้ามามีบทบาทในงานด้านแพทย์มากขึ้นอย่างแน่นอน แน่นอนว่าบุคลากรตำแหน่งนี้ จะต้องมีทั้งความรู้ความเข้าใจในเชิงการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ควบคู่กันด้วย

9. นักวิเคราะห์ทางชีวภาพ: หรือหมายถึงนักชีววิทยาด้านการคำนวณ หรือ นักสถิติด้านชีวภาพ ซึ่งเป็นการทำงานที่ใช้โมเดลทางสถิติ ซอฟต์แวร์ และระบบอินเตอร์เน็ต ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ทางด้านการแพทย์ เอาเป็นว่าได้ทำงานทั้งในขาของสถิติข้อมูลและวิทยาศาสตร์ ไปพร้อมๆกันเลย

10. ผู้ดูแลและสนับสนุนด้านการแพทย์: ต่างชาติเรียกว่าตำแหน่ง Healthcare Navigator ซึ่งทำหน้าที่ดูแล ให้คำแนะนำกับคนไข้ทุกเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงช่วยอธิบายและแก้ไขปัญหา เช่น ความคุ้มครองของประกัน เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นผู้ให้ความรู้พื้นฐานไปจนถึงเรื่องสำคัญ รวมถึง การติดต่อประสานงานระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ หรือแม้แต่ทำงานร่วมกับครอบครัวของผู้ป่วยอีกด้วย

  • แชร์บทความนี้