นักรังสีเทคนิค

Posted : 12/12/2024

นักรังสีเทคนิค หรือมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Radiologic Technologist เป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในยุคที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพทางการแพทย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษาโรค เช่น การใช้เอกซเรย์ (X-ray), การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), การตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) และการสร้างภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเครื่องมือที่ซับซ้อนและความรู้ในกายวิภาคศาสตร์ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนนักรังสีเทคนิคประมาณ 4,500 คน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ซึ่งยังคงไม่เพียงพอและเป็นปัญหาของการขาดแคลนบุคลากรทางรังสีเทคนิคของประเทศ

คุณสมบัติที่จำเป็นและเส้นทางสู่วิชาชีพ

การประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นสายงานที่จำเป็นต้องผ่านการศึกษาและได้รับการรับรองตามมาตรฐานวิชาชีพที่เข้มงวด ผู้ที่สนใจจำเป็นต้องมีคุณวุฒิสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขารังสีเทคนิค (Bachelor of Science Radiological Technology) จากสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ อาทิ เช่น หลักสูตรเทคนิคการแพทยบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น ซึ่งเกณฑ์การรับเข้าศึกษาจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โดยแต่ละสถาบันจะกำหนดเกณฑ์คะแนน GPAX และ GPA ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษ ที่แตกต่างกันไป

หลังสำเร็จการศึกษา จึงทำการสอบขึ้นทะเบียนวิชาชีพเพื่อได้รับใบอนุญาตประกอบเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขารังสีเทคนิค จากสภาเทคนิคการแพทย์ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิขอสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
  • เป็นผู้ที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขารังสีเทคนิคจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิครับรอง
  • มีความประพฤติที่ดี ไม่เคยต้องโทษจำคุก ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
  • ไม่เป็นโรคที่คณะกรรมการวิชาชีพประกาศกำหนดไว้ ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรค โรคเท้าช้าง โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคอื่นๆที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค
  • มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน

การสอบขึ้นทะเบียนจะประกอบไปด้วย 2 หมวดวิชา ได้แก่ หมวดวิชากฎหมายและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และหมวดวิชาชีพรังสีเทคนิคที่เกี่ยวกับการประกันคุณภาพและการดูแลผู้ป่วย เวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา กายวิภาคและรังสีกายวิภาค พื้นฐานการดูแลผู้ป่วย การบริหารจัดการ รังสีฟิสิกส์ และการป้องกันอันตรายจากรังสีและรังสีชีววิทยา ผู้สอบต้องได้คะแนนรวมทั้งสองหมวดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะผ่านเกณฑ์และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางสำคัญในการประกอบอาชีพนักรังสีเทคนิคในสถานพยาบาลทั่วประเทศ

นอกจากนี้คุณสมบัติส่วนบุคคลที่ควรจะมีของนักรังสีเทคนิค

  • ทักษะด้านเทคนิค : ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือทางรังสี เช่น เครื่องเอกซเรย์ (X-ray), เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT), เครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และความสามารถในการบำรุงรักษาและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของเครื่องมือ
  • ทักษะความปลอดภัยทางรังสี : ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบจากรังสีต่อผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล
  • ทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ : มีความสามารถในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วย รวมถึงการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
  • ความรับผิดชอบและจริยธรรม : ปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วย ยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพ
  • ความพร้อมในการเรียนรู้ตลอดชีวิต : ต้องติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการใช้งานเครื่องมือใหม่

วิชาที่ต้องเรียนในมหาวิทยาลัย

การศึกษาในสาขารังสีเทคนิคจะเป็นการเรียนรู้ทั้งด้านทฤษฎีและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยผ่านการใช้รังสีและภาพทางการแพทย์ ดังนั้นในแต่ละปีการศึกษาจะมีรายวิชาที่แตกต่างกัน

ปีที่ 1 จะเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้พื้นฐานในวิชาที่สำคัญ เช่น เคมีพื้นฐาน ฟิสิกส์พื้นฐาน และชีววิทยาเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยให้มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของร่างกายมนุษย์และหลักการฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รังสี นอกจากนี้ยังมีการเรียนคณิตศาสตร์พื้นฐานและทักษะการสื่อสารเพื่อใช้ในการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพและผู้ป่วย รวมทั้งวิชาจริยธรรมทางการแพทย์

ปีที่ 2 จะเริ่มเรียนวิชาฟิสิกส์รังสี ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้รังสีในงานการแพทย์ รวมทั้งเคมีทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ จะได้เรียนวิชาพยาธิวิทยาเพื่อเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยเทคโนโลยีรังสี และศึกษาการถ่ายภาพรังสี เช่น X-ray, CT Scan และ MRI นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์เพื่อเข้าใจโครงสร้างร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังสี

ปีที่ 3 จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับรังสีรักษาและการบำบัด ซึ่งเป็นการใช้รังสีในการรักษาโรค รวมถึงการศึกษาวิศวกรรมรังสีเกี่ยวกับการออกแบบและบำรุงรักษาเครื่องมือรังสี จะได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในสาขาต่างๆ และการจัดการด้านคุณภาพในการทำงานในห้องรังสี รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานจริงในห้องตรวจรังสีเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานในภาคสนาม

ปีที่ 4 จะได้ฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกในโรงพยาบาลหรือคลินิกจริง เพื่อเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ในการทำงานจริง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาในรังสีเทคนิค โดยมุ่งเน้นไปที่การค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รังสี และวิชาการจัดการระบบรังสีในโรงพยาบาล รวมถึงการเรียนรู้กฎหมายและจริยธรรมทางการแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานที่มีความรับผิดชอบสูงสุด และการเตรียมตัวสำหรับการสอบใบประกอบวิชาชีพในสาขานี้

หน่วยงานที่ปฏิบัติงาน

นักรังสีเทคนิคสามารถทำงานในหน่วยงานและสถานที่ต่างๆ ได้หลากหลาย ได้แก่

  • โรงพยาบาลและสถานพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานในแผนกรังสีวิทยา ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น X-ray, CT scan, MRI, Ultrasound เป็นต้น
  • คลินิกเฉพาะทางที่ให้บริการด้านการตรวจวินิจฉัยโดยใช้เทคโนโลยีรังสี
  • บริษัทหรือองค์กรที่ผลิตอุปกรณ์รังสีทางการแพทย์ สามารถทำงานในบริษัทที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาด้วยรังสี เพื่อให้คำแนะนำทางเทคนิคเกี่ยวกับการใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องมือเหล่านี้
  • หน่วยงานราชการและสาธารณสุข เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งานรังสี กระทรวงสาธารณสุขในส่วนงานกำกับดูแลการใช้รังสีในระบบสาธารณสุข
  • สถาบันวิจัยและพัฒนา เช่น สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (TINT) หรือองค์กรวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมทางรังสี
  • สถาบันการศึกษา เป็นอาจารย์หรือนักวิจัยในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์รังสีเทคนิค

หน้าที่และความรับผิดชอบ

หน้าที่และความรับผิดชอบของนักรังสีเทคนิคในโรงพยาบาล มีลักษณะงานที่ปฏิบัติเกี่ยวกับงานรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • 1.รังสีวินิจฉัย (Diagnostic Radiology)

    นักรังสีเทคนิคใช้เครื่องมือทางรังสีเพื่อสร้างภาพทางการแพทย์สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมผู้ป่วย อธิบายขั้นตอนการตรวจให้ผู้ป่วยเข้าใจ จัดท่าทางให้เหมาะสมกับการตรวจ การปฏิบัติงานและควบคุมเครื่องมือรังสี และตรวจสอบคุณภาพของภาพเพื่อให้เหมาะสมต่อการวินิจฉัย ที่สำคัญคือคำนึงถึงความปลอดภัยด้านรังสี โดยต้องควบคุมปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับในระดับที่ปลอดภัย พร้อมทั้งประสานงานกับแพทย์รังสีวิทยาในการส่งมอบข้อมูลภาพและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่แพทย์ต่อการวินิจฉัย นอกจากนี้ยังต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดีเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือจากผู้ป่วย

  • 2.รังสีรักษา (Radiation Therapy)

    มีหน้าที่ทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ โดยเฉพาะแพทย์รังสีรักษาเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือโรคอื่นๆ ในการวางแผนการฉายรังสี โดยต้องกำหนดตำแหน่งและปริมาณรังสีที่เหมาะสม เพื่อให้รังสีส่งผลต่อเนื้อเยื่อมะเร็งโดยส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติน้อยที่สุด มีหน้าที่ควบคุมเครื่องฉายรังสี เช่น เครื่องเร่งอนุภาค (Linear Accelerator) เพื่อปล่อยรังสีในปริมาณที่เหมาะสม ตรวจสอบความถูกต้องของตำแหน่งและขอบเขตการฉายรังสี และทำการติดตามผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยรังสีรักษา การทำงานในส่วนนี้ต้องการความแม่นยำและความละเอียดรอบคอบสูง เนื่องจากมีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

  • 3.รังสีเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)

    งานด้านนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การตรวจวินิจฉัยและการรักษา โดยใช้สารเภสัชรังสีที่มีคุณสมบัติเฉพาะในการติดตามหรือสะสมในอวัยวะเป้าหมายในร่างกายเพื่อแสดงผลทางสรีรวิทยาหรือเมแทบอลิซึมของเนื้อเยื่อ การตรวจวินิจฉัยจะเน้นสร้างภาพการทำงานของอวัยวะในเชิงหน้าที่ เช่น Bone Scan, Thyroid Scan และ PET-CT Scan ซึ่งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคและติดตามผลการรักษา ส่วนการรักษาจะใช้สารเภสัชรังสีชนิดที่มีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์ผิดปกติในร่างกาย เช่น Iodine-131 Therapy, Lutetium-177 (Lu-177) และ Yttrium-90 Microspheres โดยต้องมีการคำนวณปริมาณรังสีที่เหมาะสมและติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด

นอกเหนือจากหน้าที่หลักทั้ง 3 ด้าน นักรังสีเทคนิคยังมีหน้าที่สำคัญในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและปลอดภัย ทำการศึกษาวิจัยทางรังสีการแพทย์เพื่อพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ จัดทำรายงานและสถิติผลการปฏิบัติงาน รวมถึงการพัฒนาความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวทันเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการให้ความรู้และคำแนะนำแก่บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสี

ค่าตอบแทนและเส้นทางความก้าวหน้า

นักรังสีเทคนิคในประเทศไทยมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพตามระดับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ โดยระดับเงินเดือนและค่าตอบแทนจะแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ สถานที่ทำงาน และวุฒิการศึกษา

นักรังสีเทคนิคระดับเริ่มต้น (ไม่เกิน 1 ปี) สำหรับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษามักจะเริ่มทำงานในโรงพยาบาลหรือคลินิก มักจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 15,000 – 25,000 บาทต่อเดือน

นักรังสีเทคนิคระดับกลาง (1-5 ปี) มีประสบการณ์ในงานหรือความเชี่ยวชาญในบางเทคโนโลยี เช่น CT Scan หรือ MRT จะได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น เนื่องจากมีความสามารถในการปฏิบัติงานได้ดีและมีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น เงินเดือนโดยประมาณ 25,000 – 40,000 บาทต่อเดือน

นักรังสีเทคนิคระดับสูง (มากกว่า 5 ปี) มักจะมีโอกาสในตำแหน่งบริหาร เช่น หัวหน้าห้องรังสีหรือผู้จัดการฝ่ายรังสี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบริหารและจัดการการทำงานของแผนกทั้งในด้านการจัดการตารางงาน การฝึกอบรม การประเมินผลการทำงาน กำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของนักรังสีเทคนิคในแต่ละวัน ควบคุมคุณภาพการให้บริการ บริหารงบประมาณและทรัพยากร การจัดการระบบการทำงานและกระบวนการภายใน เงินเดือนโดยประมาณ 40,000 – 60,000 บาทต่อเดือน หรือมากกว่านั้น

นอกเหนือจากเงินเดือนประจำแล้ว นักรังสีเทคนิคยังได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมในรูปแบบต่างๆ เช่น ค่าทำงานล่วงเวลาชั่วโมงละ 150-200 บาท ค่าใบประกอบวิชาชีพ ค่าครองชีพ รวมถึงโบนัสและการปรับเงินเดือนประจำปี นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่แต่ละหน่วยงานจัดให้ เช่น สิทธิประกันสังคม การตรวจสุขภาพประจำปี และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพนี้

การใช้ AI กับงานรังสีเทคนิค

การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในงานรังสีเทคนิคซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแม่นยำและประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วย โดย AI ไม่ได้มาแทนที่นักรังสีเทคนิค แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน เช่น การวิเคราะห์ภาพรังสีจาก X-ray, CT scan หรือ MRI โดย AI สามารถประมวลผลและแยกแยะความผิดปกติในภาพได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ AI ยังช่วยปรับปรุงคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโดยการตรวจจับปัญหาที่อาจพลาดไปจากการวินิจฉัยของมนุษย์ในระยะแรก การทำงานร่วมกันระหว่าง AI และนักรังสีเทคนิคช่วยเสริมสร้างความสามารถในการให้การดูแลที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย เพื่อการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย

  • แชร์บทความนี้