ผู้ดูแลผู้สูงอายุ

Posted : 07/01/2025

อาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรครั้งสำคัญ โดยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการผู้ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตอบสนองต่อความต้องการด้านการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ผู้ดูแลผู้สูงอายุมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน ดูแลสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อาชีพนี้ยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการในประเทศไทย อาทิ การขาดแคลนบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างมืออาชีพ การได้รับค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับภาระงาน และการขาดการยอมรับในสถานภาพทางสังคม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้เร่งดำเนินการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผ่านการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ การปรับปรุงสวัสดิการ และการส่งเสริมระบบการจ้างงานที่ยั่งยืน คาดว่าในอนาคต อาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการสร้างสังคมที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยให้ดียิ่งขึ้น

บทบาทและหน้าที่

ผู้ดูแลผู้สูงอายุมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจในการดูแลตนเอง และช่วยให้พวกเขาสามารถเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตที่ดี โดยองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุนั้นประกอบไปด้วย การมีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา การได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม และการมีความมั่นคงในชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย และความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน การดูแลผู้สูงอายุจะมีตั้งแต่ผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดี แม้จะมีโรคประจำตัว ผู้สุงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคที่รุนแรงได้ มีความเสื่อมมากขึ้น และผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีโรคเรื้อรังหลายโรค นอนติดเตียง รวมทั้งผู้สูงอายุระยะสุดท้ายที่แพทย์วินิจฉัยว่าไม่สามารถรักษาได้แล้ว

หลักการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ผู้ดูแลควรให้ความสำคัญกับหลัก 11 อ. ดังนี้

  • 1. ด้านอาหาร : ผู้ดูแลต้องใส่ใจเรื่องโภชนาการ โดยจัดอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตและไขมัน เน้นโปรตีนจากปลา เพิ่มการรับประทานผัก ถั่ว และธัญพืช เลือกผลไม้ที่ไม่หวานจัด ดูแลการดื่มน้ำให้เพียงพอ และที่สำคัญคือการควบคุมดูแลการใช้ยาอย่างเคร่งครัด รวมถึงการดูแลขณะรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ
  • 2. ด้านออกกำลังกาย : ผู้ดูแลควรส่งเสริมและช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เลือกกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น การยืดเหยียด รำไทเก็ก รำไม้พลอง โยคะ เดินเร็ว หรือว่ายน้ำ พร้อมทั้งคอยสังเกตและระมัดระวังไม่ให้ออกกำลังกายหักโหมเกินไป
  • 3. ด้านอนามัย : ผู้ดูแลมีหน้าที่ช่วยดูแลสุขอนามัยทั่วไป ส่งเสริมการเลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เฝ้าระวังการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบขับถ่าย จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย และพาไปตรวจสุขภาพประจำปี
  • 4. ด้านอุจาระและปัสสาวะ : ผู้ดูแลต้องจัดอาหารที่สามารถขับถ่ายได้ดี การสวนอุจจาระหากมีความจำเป็น รวมทั้งการปัสสาวะ หากผู้สุงอายุกลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้ ควรเตรียมสิ่งที่สามารถซึมซับปัสสาวะได้
  • 5. ด้านอากาศ : ผู้ดูแลควรจัดสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ฝึกการหายใจและบริหารปอด
  • 6. ด้านอาทิตย์ : ผู้ดูแลควรควบคุมแสงสว่างภายในที่อยู่อาศัยไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ
  • 7. ด้านอุบัติเหตุ : ผู้ดูแลควรดูแลและป้องกันสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกที่อยู่อาศัย ไม่ให้เอื้อต่อการเกิดอุบัติเหตุ
  • 8. ด้านอบอุ่น : ผู้ดูแลควรรักษาความอบอุ่นในร่างกายของผู้สูงอายุ ไม่ให้มีความหนาวเย็นมากเกินไป
  • 9. ด้านอารมณ์ : ผู้ดูแลควรช่วยประคับประคองด้านจิตใจ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามวัย ช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และกระตุ้นให้มองโลกในแง่บวก
  • 10. ด้านอดิเรก : ผู้ดูแลควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่สนใจ เช่น การปลูกต้นไม้ การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา หรือการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน เพื่อลดความเหงาและสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง
  • 11. ด้านอนาคต : ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุวางแผนอนาคต ฝึกเรียนรู้เรื่องความตายอันจะช่วยปรับทัศนคติในการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ฝึกฝนจิตให้การสร้างบรรยากาศของความสงบและการเรียนรู้ที่จะปล่อยวางจากภาระที่คั่งค้างในใจ

หน้าที่หลักของผู้ดูแลผู้สูงอายุมีดังต่อไปนี้

  • 1. ช่วยดูแลกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ ได้แก่ การทำความสะอาดร่างกาย การรับประทานอาหาร การนอนหลับพักผ่อน การขับถ่าย การเคลื่อนย้ายให้ถูกสุขลักษณะเหมาะสมกับวัย เป็นต้น
  • 2. สังเกตพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงต่างๆของผู้สูงอายุ รวมทั้งเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ และต้องรายงานให้ญาติของผู้สูงอายุทราบ
  • 3. ส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุด้านการออกกำลังกาย การเดิน การลุกนั่ง อย่างปลอดภัย การระวังการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนดูแลสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยถูกสุขลักษณะเอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ
  • 4. กรณีที่มีการประกอบอาหารให้ผู้สูงอายุต้องดำเนินการเตรียม ปรุง ประกอบอาหาร พร้อมทั้งดูแลเครื่องมือเครื่องใช้ในการปรุงประกอบอาหารให้สะอาด และถูกสุขลักษณะในทุกขั้นตอนและล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • 5. จัดการดูแลความสะอาด สิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่เกิดจากการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง โดยทิ้งลงในภาชนะรองรับที่ถูกหลักสุขาภิบาล และระวังป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนกับอาหารและเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญต่อบ้านเรือนใกล้เคียง
  • 6. ส่งต่อผู้สูงอายุกรณีที่พบว่ามีเหตุฉุกเฉิน หรือการเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุตามระบบการส่งต่อและวิธีการอย่างถูกต้อง

คุณสมบัติและคุณวุฒิที่สำคัญ

  • 1. มีความรักและเมตตาในการดูแลผู้สูงอายุ ด้วยความอดทน เข้าใจ และพร้อมรับฟังปัญหาเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
  • 2. มีความรู้ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุทั้งทางร่างกาย จิตใจและอารมณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม
  • 3. มีทักษะในการช่วยเหลือดูแลกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว ป้อนอาหาร พลิกตะแคงตัว และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
  • 4. มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดูแลผู้สูงอายุ เพราะต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจในการทำงาน
  • 5. มีความมั่นคงทางอารมณ์ สามารถควบคุมตนเองได้ดี ใจเย็น และรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
  • 6. มีทักษะการสื่อสารที่ชัดเจน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้สูงอายุ
  • 7. มีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้สูงอายุ
  • 8. มีความช่างสังเกต สามารถจับสังเกตความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็ว
  • 9. มีความสามารถในการแก้ปัญหา วิเคราะห์สถานการณ์ และหาทางออกที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • 10. มีเครือข่ายสนับสนุนที่ดี ทั้งจากครอบครัวและเพื่อน ที่พร้อมให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา

คุณวุฒิของผู้ดูแลผู้สูงอายุ มีดังนี้

  • 1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
  • 2. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่อง ในศีลธรรมอันดี และไม่มีประวัติการกระทำผิดที่เป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุและบุคคลรอบข้าง รวมถึงไม่ละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ
  • 3. มีใบรับรองแพทย์ระบุว่ามีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบและไม่เป็นผู้ติดสารเสพติดโดยมีผลการตรวจร่างกายไม่เกินสามเดือน
  • 4. จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า
  • 5. มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 1 ปี พร้อมหนังสือรับรองจากโรงเรียน สถาบันหรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง และผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุที่จัดโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ หรือได้รับการฝึกอบรมจากผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งมีประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุที่จัดโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการตามหลักสูตรที่กำหนด

การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ

การฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นกระบวนการที่สำคัญเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในด้านนี้ การฝึกอบรมดังกล่าวเน้นการเสริมสร้างความรู้ ทักษะ และคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ในประเทศไทยที่หลักสูตรการอบรมของหน่วยงานราชการและเอกชน หนึ่งในนั้นคือมาตรฐานหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุของกรมกิจการผู้สุงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นเบื้องต้นจำนวน 18 ชั่วโมง สำหรับสมาชิกในครอบครัว หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นกลางจำนวน 70 ชั่วโมง สำหรับประกอบอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุระกับพื้นฐาน ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่วิชาชีพ และหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นสูงจำนวน 420 ชั่วโมง สำหรับประกอบอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

หลักสูตร รูปแบบการเรียน หมวดวิชา คุณสมบัติผู้เรียน / การประเมินผล
หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นเบื้องต้นจำนวน 18 ชั่วโมง การเรียนแบบออนไลน์
(E-learning)
6 หมวดวิชา ได้แก่
1. ความรู้ทั่วไปของผู้สูงอายุ
2. การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
3. ทักษะพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ
4. การปฐมพยาบาลและการส่งต่อ โรคที่พบบ่อยและอาการผู้สูงอายุ
5. แนวคิดเกี่ยวกับผู้ดูแล
1. ผู้สมัครจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี
2. สมาชิกในครอบครัวผู้สูงอายุ
3. ผู้ดูแลผู้สูงอายุ อาสาสมัครหรือผู้ที่สนใจ
หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นกลางจำนวน 70 ชั่วโมง การเรียนแบบทฤษฎีและปฏิบัติ 7 หมวดวิชา ได้แก่
1. ความรู้ทั่วไปของผู้สูงอายุ จำนวน 3 ชั่วโมง
2. การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ จำนวน 4 ชั่วโมง
3. ทักษะพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 10 ชั่วโมง 4. การประเมินภาวะวิกฤตเบื้องต้น การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน การปฐมพยาบาลและการส่งต่อ จำนวน 8 ชั่วโมง
5. โรคที่พบบ่อยและอาการผู้สูงอายุ จำนวน 3 ชั่วโมง
6. แนวคิดเกี่ยวกับผู้ดูแล จำนวน 2 ชั่วโมง
7. การฝึกปฏิบัติ จำนวน 40 ชั่วโมง
1. ผู้สมัครจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดเพศ
2. จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษา
การประเมินผลจะต้องผ่านการทดสอบและประเมินภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80.0
หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นสูงจำนวน 420 ชั่วโมง การเรียนแบบทฤษฎีและปฏิบัติ 8 หมวดวิชา ได้แก่
1. ความรู้ทั่วไปของผู้สูงอายุ จำนวน 15 ชั่วโมง
2. การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ จำนวน 50 ชั่วโมง
3. การดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 75 ชั่วโมง
4. การประเมินภาวะวิกฤตเบื้องต้น การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน การปฐมพยาบาลและการส่งต่อ จำนวน 21 ชั่วโมง
5. โรค กลุ่มอาการของโรค และปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ จำนวน 10 ชั่วโมง 6. แนวคิดเกี่ยวกับผู้ดูแล จำนวน 11 ชั่วโมง
7. การฝึกทักษะทางด้านภาษาและคอมพิวเตอร์ จำนวน 18 ชั่วโมง
8. การฝึกปฏิบัติ จำนวน 220 ชั่วโมง
1. ผู้สมัครจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดเพศ
2. จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3)
การประเมินผลจะต้องผ่านการทดสอบและประเมินภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80.0

รายได้ของอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ

รายได้ของผู้ดูแลผู้สูงอายุขึ้นอยู่กับลักษณะงาน ระดับความเชี่ยวชาญ และประเภทของผู้สูงอายุที่ต้องดูแล โดยสามารถแบ่งเป็นรายวันและรายเดือนได้ดังนี้

อัตราค่าตอบแทนนี้เป็นเกณฑ์สำหรับผู้ดูแลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ สำหรับผู้ช่วยพยาบาลหรือพยาบาลวิชาชีพจะได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่สูงกว่านี้ ในกรณีจ้างรายเดือนผู้ดูแลจะมีวันหยุด 4 วันต่อเดือน และหากทำงานในวันหยุดจะได้รับค่าล่วงเวลาเพิ่มเติม
ระดับผู้สูงอายุ รายวัน รายเดือน
ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้ 500-800 15,000-20,000
ผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลบางส่วน 800-1,200 20,000-25,000
ผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง 1,200-1,800 25,000-40,000
  • แชร์บทความนี้