ส่องความน่าสนใจ “อาชีพนักรังสีเทคนิค” พร้อมแนวโน้มในอนาคต

Posted: 11/04/2019

การเติบโตของตำแหน่งงานและธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจในช่วง 2-3 ปีหลัง แน่นอนว่าสายงานบริการดูแลสุขภาพมีหลากหลาย โดยอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร มักเป็นอาชีพ ที่คนนึกถึงลำดับต้นๆ แต่ยังมีอีกหลากหลายอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการและมีความน่าสนใจอย่างมาก

อาชีพนักรังสีเทคนิค “ขาดแคลน และมีค่าตอบแทนสูง

ความต้องการนักรังสีเทคนิคในปี พ.ศ. 2553 มีอยู่ที่ 1000 คน และ เพิ่มขึ้นเป็น 3000 คน ในปี พ.ศ. 2559 นับเป็นตัวเลขที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และแน่นอนว่าในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ความต้องการด้านบริการดูแลรักษาสุขภาพจะยังคงเพิ่มขึ้น เพราะประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับ วิวัฒนาการของการตรวจวินิจฉัยที่ก้าวหน้า ทำให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ถือเป็นกำลังสำคัญที่หน่วยงาน องค์กร หรือ บริษัท ต่างต้องมองหาในตลาดแรงงานอย่างแน่นอน

แม้ อาชีพนักรังสีเทคนิค จะไม่ใช่ตำแหน่งงานที่มีการเปิดรับบุคลากรเป็นจำนวนที่มากมายนัก แต่ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบซึ่งต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน บวกกับการผลิต บุคลากรที่ไม่พอเพียงต่อความต้องการ ทำให้สายงานนี้ยังเป็นที่ต้องการ และมีแนวโน้มเป็น 1 ในอาชีพที่น่าสนใจอย่างมากในเรื่องของค่าตอบแทนและความมั่นคง

นักรังสีเทคนิค คือใคร … ทำงานเกี่ยวกับอะไร ?

นักรังสีเทคนิค คือเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุข ในด้านการวินิจฉัยโรคและให้บริการทางรังสีเทคนิคในการตรวจ วิเคราะห์และรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสีรวมทั้ง การป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้ป่วย รับผิดชอบในการถ่ายภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยด้วยรังสีประเภทต่างๆ ตามคำสั่งแพทย์ การใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องฉายรังสีเครื่องนับวัดรังสี เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องเอกซเรย์ระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง เครื่องเร่งอานุภาพ รวมทั้งการ ดูแลตรวจสอบคุณภาพของภาพรังสีการประกันคุณภาพและการบำรุงรักษาเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในทางรังสีเทคนิคให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีและปลอดภัย

บุคลิกภาพที่เหมาะกับงานนักรังสีเทคนิค

ความเชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ และ การยึดติดเกี่ยวกับการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล คือ จุดเด่นทางด้านบุคลิกภาพสำคัญของคนที่มีเหมาะสมกับสายงานดังกล่าวนี้ เพียงแต่องค์ประกอบอื่นๆ การเป็นผู้ชอบแก้ปัญหา ชอบใฝ่หาความรู้รวมถึงการเปิดรับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ และ การเป็นนักช่างสังเกต ก็ถือเป็นลักษณะนิสัยที่เข้าข่ายอยู่เช่นกัน

ที่สำคัญอีกหนึ่งองค์ประกอบคือคุณสมบัติของผู้ที่มีความมั่นใจในตนเอง รวมทั้งการพร้อมที่จะอุทิศตนเองให้กับเวลางาน นับเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการก้าวเข้ามาในอาชีพนักรังสีเทคนิคอีกด้วย

“ทักษะการสื่อสาร” เรื่องสำคัญของนักรังสีเทคนิค

หน้าที่และความรับผิดชอบของนักรังสีเทคนิคต้องอาศัยทักษะด้านการแพทย์และการวิภาค (MEDICAL AND ANATOMICAL SKILLS) และ ความถนัดทางจักรกล ที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องมือและ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ทักษะด้านการสื่อสาร (COMMUNICATION SKILLS) มีความสำคัญ และ เป็นสิ่งที่อาจชี้วัดว่าคุณเหมาะกับงานนี้ มากหรือน้อยกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ

การเป็นนักรังสีเทคนิค คุณจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารให้ชัดเจน ไม่ตกหล่น ในการสื่อสารกับแพทย์และ แพทย์รังสีวิทยา ขณะเดียวกันคุณจะต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานเพื่อการทำงานเป็นทีม นอกจากนั้นทักษะที่ดีเช่นการอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย หรือ มีจิตวิทยาในการพูดคุยกับผู้ป่วย ด้วยความเห็นอกเห็นใจ หรือ เพื่อจัดการความเครียดของผู้ป่วย อีกทั้งท้ายที่สุดคุณจะต้องสื่อสารกับกลุ่มคนที่เป็นสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยได้อย่างเข้าอกเข้าใจอีกด้วย

ทางเลือกของเส้นทางอาชีพนักรังสีเทคนิคที่น่าสนใจ

แม้จะเป็นอาชีพที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ก็นับเป็นอาชีพที่มอบเส้นทางการใช้ชีวิตที่หลากหลายเช่นกัน ลองมาดูทางเลือกของเส้นทางที่น่าสนใจซึ่งอาชีพนี้ได้มอบไว้ให้กันดีกว่า

  1. ทำงานภาครัฐ vs ทำงานภาคเอกชน: แน่นอนว่าหน่วยงาน (โดยเฉพาะโรงพยาบาล) ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างเปิดประตูกว้างรอต้อนรับบุคลากรสายงานนี้อยู่
  2. โอกาสในการเปิดคลินิกรังสีเทคนิค: นับเป็นอีกเส้นทางที่น่าสนใจ หากคุณสั่งสมประสบการณ์และเงินทุน ได้มากพอก็มีโอกาสสำหรับการเป็นเจ้าของธุรกิจด้านบริการสุขภาพได้เช่นกัน
  3. ทางเลือก/อาชีพเสริม: คุณมีโอกาสใช้ความรู้ ทักษะ และ ความสามารถในการทำงานด้านอื่นๆ เช่น พนักงานขายเครื่องมือแพทย์ อาจารย์พิเศษและนักวิชากร หรือเป็นวิทยากรและผู้บรรยาย ซึ่งแน่นอนว่าคุณสามารถทำสิ่งเหล่านี้เป็นอาชีพเสริมจากเวลางานประจำได้อีกด้วย

แนวโน้มในอนาคตที่ส่งผลต่ออาชีพนักรังสีเทคนิค

แม้จะมีความน่าสนใจอยู่มาก แต่ทุกอาชีพก็ต้องตระเตรียมเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นมาดูว่าประเด็นอะไรบ้างที่สายอาชีพนักรังสีเทคนิคต้องเตรียมพร้อมรับมือ

  1. สังคมผู้สูงอายุ: คุณจะต้องศึกษาและหาแนวทางการวินิจฉัยผู้ป่วยและโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งแนวทางการให้บริการใหม่ๆมากขึ้น
  2. AI และ IT: ระบบปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีบทบาทในสายงานนี้มากขึ้น
  3. ความต้องการของลูกค้า: การสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้น อาจก่อให้เกิดบริการทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในรูปแบบใหม่ๆ

  • แชร์บทความนี้