สิ่งที่ควรรู้ ในงานดูแลผู้สูงอายุ

Posted: 30/03/2022

ปัจจุบันการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ที่ช่วยทำให้ประชากรมีอายุยืนมากขึ้น ในขณะที่อัตราการตายของประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายการวางแผนครอบครัวหรือการควบคุมการมีบุตรทำให้เกิดการลดภาวะเจริญพันธ์อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) สำหรับประเทศไทยอัตราประชากรผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ. 2558 จำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 65,203,979 คน มีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ที่ 10,569,021 คน ในขณะที่ปี 2563 จำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12,620,340 คน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2563)

เมื่อประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ งานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อย่างงานดูแลผู้สูงอายุจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นที่นิยมและมีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนอาจจะมองว่างานเกี่ยวกับผู้สูงอายุนั้นไม่จำเป็นต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ก็ได้ แต่ในความจริงแล้วงานดูแลผู้สูงอายุเป็นงานที่ต้องฝึกอบรมอย่างจริงจังและต้องมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานดังกล่าวค่อนข้างมาก จึงจะสามารถทำให้งานดูแลผู้สูงอายุเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับผู้ที่กำลังสนใจหรืออยากศึกษางานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุเพื่อนำไปปฏิบัติกับผู้สูงอายุในครอบครัว หรือเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ตลอดจนนำไปประกอบอาชีพในบ้านพักคนชราต่างๆ ก็ตาม ในบทความจะนำเสนอสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำงานกับผู้สูงอายุทั้งในครอบครัว ชุมชนตลอดจนในบ้านพักคนชราอย่างครอบคลุม ได้แก่ (1) ประเภทของงานดูแลผู้สูงอายุ และ (2) ลักษณะสำคัญที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุควรมีและแนวทางดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเภทของงานดูแลผู้สูงอายุ สามารถแบ่ง 2 ประเภท ดังนี้

1.ผู้ช่วยดูแลบ้าน

งานดูแลผู้สูงอายุที่สำคัญแต่หลายคนมักจะมองข้ามมากที่สุด คือ งานดูแลบ้านหรือการดูแลสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุให้ยังคงเป็นสถานที่ที่ผู้สูงอายุคุ้นเคยและปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็ให้ความเป็นอิสระแก่ผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุผ่อนค่อยไม่อึดอัด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เช่น การจัดที่นอนใหม่ การเปลี่ยนที่วางของใช้ที่จำเป็นจะทำให้ผู้สูงอายุสับสนและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ หรือหากที่อยู่อาศัยไม่เป็นระเบียบก็อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุได้ เป็นต้น ทั้งนี้ หน้าที่ทั่วไปของผู้ช่วยดูแลบ้านมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สูงอายุแต่ละคน แต่ที่พบมากที่สุดคือ การทำความสะอาดและจัดระเบียบบ้าน การดูแลประจำตัว การช่วยเหลือผู้สูงอายุให้ใช้ห้องน้ำ อาบน้ำและแต่งตัวอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

2.การดูแลผู้สูงอายุโดยการเป็นฝ่ายสนับสนุน

งผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น งานสนับสนุนทั้งในด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต จึงถือได้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้สูงอายุ โดยงานของฝ่ายสนับสนุนในด้านกายภาพ ได้แก่ การช่วยพยุงผู้สูงอายุที่ลุกหรือเดินลำบาก การช่วยการจัดการงานต่างๆ แทนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว การช่วยเหลือผู้สูงอายุในเรื่องการออกไปเที่ยวและพบปะสังสรรค์ทางสังคม การเป็นเพื่อนร่วมเล่นกิจกรรมกับผู้สูงอายุ เช่น การเล่นเกมไพ่ หมากรุก เป็นต้น ตลอดจนการดูแลเกี่ยวกับการใช้ยาและการพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้ดูแลฝ่ายสนับสนุนคือควรจดจำยาที่ผู้สูงอายุใช้ให้ได้และแจ้งรายการยาแก่แพทย์ทุกท่าน ทุกโรงพยาบาลที่ไปพบเพื่อป้องกันการจ่ายยาซ้ำซ้อน หรือยาที่ออกฤทธิ์ตีกัน เพราะผู้สูงอายุหลายคนอาจมีอาการจำชื่อยาที่ตนเองรับประทานอยู่ไม่ได้นั้นเอง นอกจากนี้เมื่อพบว่าผู้สูงอายุมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ หอบเหนื่อย ซึมลง อาเจียนหรือท้องเสีย ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 วัน ควรรีบพาผู้สูงอายุมาโรงพยาบาลทันที

ส่วนงานของฝ่ายสนับสนุนในด้านสุขภาพจิตใจ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้สูงอายุหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชรา มักมีเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ทั้งในด้านที่อยู่อาศัยและต้องเจอผู้คนที่ไม่รู้จักส่งผลให้เกิดความกังวลและกลัวได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ผู้ดูและฝ่ายสนับสนุนในด้านสุขภาพจิตใจที่จะต้องค่อยให้กำลังใจและความรักต่อผู้สูงอายุ โดยลักษณะงานของฝ่ายสนับสนุนในด้านสุขภาพจิตใจมีหลายประการ เริ่มต้นตั้งแต่การใส่ใจในการรับฟังผู้สูงอายุอย่างให้เกียรติและยอมรับ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า

ลักษณะสำคัญที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุควรมีและแนวทางดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

1.ความเคารพและความเข้าใจ

คุณลักษณะที่สำคัญของผู้ดูแลผู้สูงอายุอันดับแรกๆ คือต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของวัย ไม่ตัดสินผู้สูงอายุทั้งในด้านการใช้ชีวิตและความคิด โดยเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของผู้สูงอายุอย่างเข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้การให้ความเคารพผู้สูงอายุก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงช่วยส่งเสริมเรื่องกำลังใจและทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองแล้ว ยังสะท้อนถึงความเคารพและเห็นคุณค่าในงานดูแลผู้สูงอายุที่ตนเองกำลังทำอยู่ด้วย

2.ความอดทน

ความอดทนถือเป็นหัวใจสำคัญไม่แพ้คุณลักษณะอื่นๆ เพราะเมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย ร่างกายก็จะมีการเสื่อมโทรมถดถอยทั้งร่างกายและจิตใจ อาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลและรักษา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกระดูกพรุน โรคเกาต์ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคจอประสาทตา เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ ซึ่งผู้สูงอายุบางรายแต่ละคนก็จะมีความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป เช่น ปฏิเสธที่จะทานยาตามที่แพทย์ให้ ไม่ทำกิจวัตรตามตารางของผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือร้องขอความช่วยเหลือบ่อยครั้ง เป็นต้น ถ้าหากผู้ดูแลผู้สูงอายุขาดความอดทนในการทำงานดูแลสูงอายุ อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ความก้าวร้าว ตลอดจนความรุนแรงต่อผู้สูงอายุได้

3.ความใส่ใจ

คุณลักษณะเบื้องต้นประการสุดท้าย คือ การใส่ใจและเป็นผู้ที่สังเกตความต้องการผู้อื่นเสมอ เพราะผู้สูงอายุหลายคนจะมีความรู้สึกไม่เป็นภาระผู้อื่น จึงไม่ร้องขอความช่วยเหลือ หรือในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตนเองได้ ผู้ดูแลจะต้องมั่นสังเกต ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอเช่น การรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์แนะนำ การจัดกิจกรรมออกกำลังกายที่ปลอดภัยเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ตลอดจนดำเนินการต่างๆ เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2563). ข้อมูลสถิติจำนวนผู้สูงอายุประเทศไทย ปี 2563. [ออนไลน์]. http://www.dop.go.th/th/know/1. เข้าถึงวันที่ 29 เมษายน 2563
  • ธฤษณุ แสงจันทร์. (2556). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรู้ของผู้ดูแลผู้สูงอายุไทย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วิทยาลัยประชากรศาสตร์.
  • มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. (2008). การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว. https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/2544
  • Working In Elderly Care: What You Should Know. https://www.online-learning-college.com/news/working-elderly-care-what-you-should-know/ [Online]. เข้าถึงวันที่ 29 เมษายน 2563.

  • แชร์บทความนี้